โรงเรียน เอกบูรพา วิเทศศึกษา

  • เทคนิคการจำคำศัพท์ภาษาจีน บทความโดย คุณครูมิรันตรี พิรศรี (เหล่าซือมุก) คุณครูประจำชั้นประถมศึกษา

  • กลูกอย่างไร? ให้มีความมั่นใจในตนเอง บทความโดย คุณครูวรรณพร เพ็ญศิริ (ครูหน่อย) คุณครูประจำชั้นอนุบาล

  • เรียนวิทยาศาสตร์แล้วได้อะไร? บทความโดย คุณครูพัชรา สืบสาคร (ครูเมย์) ครูประจำชั้นประถมศึกษา และครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

  • บทความเรื่อง เราจะใช้กิจกรรมศิลปะกับเด็กนักเรียนเพื่อช่วยพัฒนาสมองและการเรียนรู้ได้อย่างไร?
    .
    บทความโดย คุณครูจตุรภุช นิลสดใส (ครูเบิร์ด) คุณครูวิชาทัศนศิลป์
    .
    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการใช้กิจกรรมศิลปะในที่นี้ไม่ใช่การฝึกฝนให้เด็กนักเรียนเป็นจิตรกรหรือปฏิมากรผู้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการปลูกฝังให้นักเรียนมีความรักและซาบซึ้งในศิลปะ อยากจะทำงานศิลปะไม่ว่าแขนงใดๆ ก็ตาม เพราะเราต้องการให้การทำกิจกรรมศิลปะนี้ไปกระตุ้นสมองของเด็ก ผลงานศิลปะจะออกมาดีหรือไม่ดีไม่ใช่การตัดสิน เราต้องการสมองที่ได้มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่งานศิลปะที่เลอเลิศ แต่อาจจะมีเด็กบางคนที่มีแววของความเป็นศิลปินในอนาคต ซึ่งครูต้องอาศัย สังเกต และช่วยแนะนำสนับสนุนต่อไปเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม การที่เขาได้สัมผัสกับกิจกรรมศิลปะตั้งแต่แรกๆ เป็นการสร้างวงจรพื้นฐาน ทางศิลปะในสมองของเขา ซึ่งจะถูกต่อยอดในโอกาสข้างหน้าได้อย่างง่าย
    .
    กิจกรรมศิลปะ เราจะไม่ตีกรอบให้เด็ก เด็กบางคนชอบวาดรูป บางคนชอบปั้นดิน ตัดกระดาษปะติดเป็นรูป เราต้องปล่อยตามอิสระในช่วงแรก เพราะนี่คือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่วงจรของสมองในส่วนของจินตนาการ เด็กอาจจะลองหรือทดสอบไปเรื่อยๆ หาประสบการณ์แต่ละอย่างตามความชอบ ทุกสิ่งที่เขาสัมผัสจะส่งผลให้เซลล์ในสมองของเขาก่อรูปเป็นวงจรเรื่องต่างๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือวงจรแห่งจินตนาการ เพราะมันจะเป็นรากฐานอันสำคัญของอีกหลายๆ เรื่องในชีวิตของเขาในอนาคต
    .
    ดังนั้น ศิลปะ คือ เครื่องมือที่ทำให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลป์เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง การที่เด็กสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นจะดีหรือไม่ดี สวยหรือไม่สวย ไม่สำคัญเท่ากับว่าเขาได้ทำมันขึ้นมาแล้ว งานชิ้นนี้ได้ผ่านการวางกรอบแนวคิด วางแผนในการผลิต และลงมือผลิตจนแล้วเสร็จ นี่คือคุณค่าของงานที่เราจะต้องให้การชื่นชมมากกว่าคุณภาพของผลงาน การชื่นชมเด็กจะทำให้วงจรสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการมองตนเอง การยอมรับนับถือตนเองและผู้อื่นมีความเข้มแข็งขึ้น
    .
    สังคมใดๆ ก็ตาม ล้วนต้องการคนที่มีจินตนาการ สร้างสรรค์ คนที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจินตนาการของตนเองออกมาทั้งในรูปแบบคำพูดและสัญลักษณ์ทางศิลปะ ตลอดจนต้องการคนที่เคารพตนเองและผู้อื่นด้วยกันทั้งนั้น กิจกรรมศิลปะคือกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งจรรโลงจิตใจมนุษย์เท่านั้น หากแต่เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างคนที่มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้เลยทีเดียว

  • บทความโดย คุณครูสมลักษณ์ บทมูล ครูประจำชั้นประถมศึกษา
    เปิดประตูการศึกษา เรียนรู้-สู้วิกฤติ (โควิด-19) ความเปลี่ยนแปลง สู่โลกอนาคต
    "สอนออนไลน์ยังไงให้น่าสนใจ เด็กไม่เบื่อ! มีความสุขในการเรียน"
    การสอนออนไลน์สำหรับครูยุคใหม่
    เทคโนโลยีมีการพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ทุกคนไม่ทันตั้งตัว เราจึงต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ แม้ในระบบการศึกษาเองก็มีการรับเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการเข้าถึงความรู้หลาย ๆ แหล่ง โดยผู้สอนสามารถออกแบบคอร์สเรียน Online ให้น่าสนใจได้ดังนี้
    1.สำรวจความชอบ ความถนัด และความเชี่ยวชาญของตนเอง
    การจะเริ่มทำการสอนออนไลน์ให้น่าสนใจนั้น ผู้สอนจะต้องทราบความถนัดของตนเอง เพราะการถ่ายทอดความรู้ หากขาดองค์ความรู้ที่ครอบคลุมในเรื่องนั้น ๆ อาจจะก่อให้เกิดความสับสนระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้ ข้อดีของการเรียนออนไลน์นี้ ผู้สอนสามารถคัดเลือกความถนัดด้านใดด้านหนึ่งมาเป็นคอร์สเรียนได้ เช่น การสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประศึกษาปีที่ 1 ผู้สอนทำการศึกษาพฤติกรรมนักเรียนและครอบครัวของแต่ละครอบครัว สนทนาและสร้างความคุ้นเคยกับนักเรียนศึกษาดูว่านักเรียนในวันนี้สนใจอะไรมากที่สุด นักเรียนส่วนใหญ่ชอบดู YouTube ทำให้ผู้สอนคิดวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยการทำ Clip VDO ในรูปแบบต่างๆลง YouTube สร้างรูปแบบการทำ Clip VDO การสอนให้น่าติดตาม และการสอน Online โดยการใช้โปรแกรม Google classroom เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้เรียน
    2.จัดลำดับเนื้อหาที่สอน พร้อมสอดแทรกทริคความรู้เล็กๆ เกี่ยวกับบทเรียน
    การเรียนการสอนจะต้องเริ่มต้นด้วยความผ่อนคลาย ให้ผู้เรียนค่อย ๆ ปรับตัวและได้คิดตามสิ่งที่ผู้สอนต้องการจะสื่อ การเริ่มต้นบทเรียนจึงไม่ควรเข้าสู่ใจความหลักในทันที เพราะผู้เรียนอาจตั้งตัวไม่ทัน ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องวางแผนการสอนเป็นขั้นตอน พร้อมทั้งสอดแทรกหรือเทคนิคการจำเนื้อหาต่าง ๆ ให้ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกว่าบทเรียนนี้ไม่ได้ซับซ้อนจนหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อ รวมไปถึงการมีคำสนุกสนานที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน หรือเรื่องเล่าที่ช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนให้อยู่กับการเรียนก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากที่ทำให้การเรียนการสอนมีความสนุก
    3.หาสื่อการสอนที่น่าสนใจ มีสีสันและภาพประกอบ
    สื่อที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงความสนใจของผู้เรียนได้ โดยสื่อที่ใช้ควรจะมีสีสันประกอบที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและสามารถจำเนื้อหาได้ มีการสรุปเนื้อหาออกเป็นประเด็นย่อย ๆ การอธิบายเนื้อหาจากสื่อที่มีความสวยงาม ครบถ้วน ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจดจำบทเรียนให้ผู้เรียนด้วย
    4. ฝึกทักษะการพูดให้คล่องแคล่ว รู้จักใช้น้ำเสียง
    การสอน Onlone จะเป็นการสื่อสารทางเดียว คือ ผู้พูดจะไม่ทราบปฏิกิริยาของผู้ฟัง ทำให้การวางแผนการสอนอาจจะลำบากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้พูดจึงควรเตรียมการพูดให้น่าฟัง สร้างความตื่นเต้น ใช้โทนเสียงสูง โทนเสียงต่ำให้เหมาะสม
    5. เข้าใจการสรุปและย่อบทเรียนให้เข้าใจง่าย
    การสอน Online ที่ไม่น่าเบื่อคือการสอนที่แตกต่างจากในห้องเรียน ผู้สอนจะต้องมีวิธีการพูดและสรุปบทเรียนให้น่าสนใจ กระชับ และสิ่งสำคัญ คือบทเรียนนั้นจะต้องเข้าใจง่าย ผู้สอนจะต้องเน้นการพูดโดยไม่ท่องตามหนังสือเรียน การพูดด้วยสไตล์ของตนเองจะทำให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจขึ้น
    6. พยายามโยงบทเรียนเข้าสู่ประสบการณ์ชีวิต
    การเล่าเรื่องกระตุ้นความสนใจได้ดีเสมอ พยายามโยงเรื่องนั้นเข้าสู่บทเรียนให้ได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของเนื้อหาที่เรียนกับการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง โดยการเล่าเรื่องเป็นอีกหนึ่งวิธีกระตุ้นความทรงจำของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถจดจำบทเรียนนี้ไว้ได้นานขึ้น และถือเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการเรียนการสอนโดยทั่วไปที่เห็นผลได้จริง
    7.หาวิธีการรับฟังคำถามและความคิดเห็นของผู้เรียน
    ข้อเสียของการเรียน Online คือผู้สอนไม่สามารถสังเกตสีหน้า ท่าทางขณะเรียนได้ ความรู้สึกของผู้เรียน เมื่อผู้เรียนเกิดข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ครูควรบริหารเวลาในขณะสอนเพื่อเพิ่มช่องทางในการรับฟังคำแนะนำ รวมถึงคำถามระหว่างบทเรียนต่างๆ จะช่วยให้ผู้สอนสามารถนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุงการวางแผนการสอนของตนเองต่อไป ดังนั้นผู้สอนจึงควรหาช่องทางในการรับฟังผู้เรียนหลังการเรียนการสอนอยู่เสมอ
    การสอน Online มีประโยชน์ สะดวกในการหาแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสำหรับครูทุกคนที่พร้อมเรียนรู้ และศึกษาเพื่อพัฒนาให้ชั่วโมงการสอนของตนเองมีประสิทธิภาพและถือเป็นการสะท้อนการสอนของตนเอง โดยสังเกตจากการเข้าเรียนของผู้เรียนที่มีความกระตือรือร้นอยากเรียนและมีส่วนร่วมในการเรียน สิ่งที่สำคัญคือ ผู้สอนต้องการวัดอะไรนักเรียน อยากให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องใด อย่างไร ครูใช้วิธีการวัดผลอย่างไรจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียน นักเรียนเข้าใจในเนื้อหาหัวข้อนั้นๆ
    Credit : Tuetor

  • บทความประจำเดือน มิถุนายน 2562

ย้อนกลับ

Information

ปิดหน้าต่าง